หลักสูตรกายภาพบำบัดบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560)

ชื่อหลักสูตร

ชื่อหลักสูตรภาษาไทย     : หลักสูตรกายภาพบำบัดบัณฑิต
ชื่อหลักสูตรภาษาอังกฤษ  : Bachelor of Physical Therapy Program

ชื่อปริญญาและสาขาวิชา

ชื่อเต็มภาษาไทย  :  กายภาพบำบัดบัณฑิต
ชื่อย่อภาษาไทย   :  กภ.บ.

ชื่อเต็มภาษาอังกฤษ  :  Bachelor of Physical Therapy
ชื่อย่อภาษาอังกฤษ   :  B.PT.

ผลการเรียนรู้ที่คาดว่าผู้เรียนจะได้รับจากหลักสูตร

เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

  1. ตระหนักในคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของผู้ป่วยที่มารับบริการทางกายภาพบำบัดทุกคน
  2. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานและความรู้ในวิชาชีพกายภาพบำบัดรอบด้าน สามารถติดตามความก้าวหน้าของวิทยาการทางกายภาพบำบัดและบูรณาการกับศาสตร์ที่เกี่ยวข้องได้
  3. สามารถคิด วิเคราะห์ ปัญหางานทางกายภาพบำบัดด้วยระเบียบวิธีวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ หรือสร้างนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนางานทางกายภาพบำบัดได้อย่างสร้างสรรค์
  4. ปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่นทั้งในบทบาทผู้นำหรือสมาชิกได้ดัวยสัมพันธภาพอันดี  รับผิดชอบในการพัฒนาตนเองและชุมขนหรือวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง
  5. แปลผลตัวเลขทางสถิติขั้นพื้นฐานได้อย่างถูกต้อง  สื่อสารด้วยภาษาพูด ภาษาเขียนและภาษากายได้ถูกต้องเหมาะกับกาละ เทศะ บุคคล รู้เลือกรู้ใช้เทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ
  6. รับฟัง อธิบาย และปฏิบัติต่อผู้รับบริการเพื่อให้การบริการทางกายภาพบำบัดอย่างมีศิลปะ
  7. มีสุขนิสัยที่ดี เป็นแบบอย่างของบุคลากรด้านสุขภาพแก่ผู้รับบริการและบุคคลทั่วไปได้และแสดงออกถึงบุคลิกภาพของบุคลากรด้านสุขภาพที่มีสมรรถนะ  เที่ยงธรรม และสำนึกรับใช้ชุมชน
  8. ตรวจประเมินและวินิจฉัยทางกายภาพบำบัดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน บำบัดรักษา ฟื้นฟูแก่ผู้มารับบริการได้อย่างถูกต้อง ตรงตามมาตรฐานวิชาชีพกายภาพบำบัด
จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร

140 หน่วยกิต

รูปแบบของหลักสูตร

หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

โครงสร้างของหลักสูตร
หมวดวิชา เกณฑ์มาตรฐานของ สกอ. หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560
1. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต 30 หน่วยกิต
⠀⠀1.1 หมวดวิชาศึกษาทั่วไปบังคับ 30 หน่วยกิต
⠀⠀1.2 หมวดวิชาศึกษาทั่วไปเลือก 0 หน่วยกิต
2. หมวดวิชาเฉพาะ ไม่น้อยกว่า 84 หน่วยกิต 104 หน่วยกิต
⠀⠀2.1 กลุ่มวิชาพื้นฐานวิชาชีพ 30 หน่วยกิต
⠀⠀⠀⠀⠀2.1.1 กลุ่มวิชาพื้นฐานวิชาชีพวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 12 หน่วยกิต
⠀⠀⠀⠀⠀2.1.2 กลุ่มวิชาพื้นฐานวิชาชีพเฉพาะด้าน 18 หน่วยกิต
⠀⠀2.2 กลุ่มวิชาเอก 74 หน่วยกิต
⠀⠀⠀⠀⠀2.2.1 วิชาเอกบังคับ 71 หน่วยกิต
⠀⠀⠀⠀⠀2.2.2 วิชาเอกเลือก 3 หน่วยกิต
3. หมวดวิชาเลือกเสรี ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต 6 หน่วยกิต
รวม (หน่วยกิต) ไม่น้อยกว่า 120 หน่วยกิต 140 หน่วยกิต

การรับเข้าศึกษา
  • เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยพะเยา ว่าด้วย การศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายสามัญ ในแผนการเรียนที่เลือกเรียนวิชาเพิ่มเติมทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ หรือเทียบเท่า
  • มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เจ็บป่วยหรือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรือมีความผิดปกติที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
การให้ปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

ให้ปริญญา กายภาพบำบัดบัณฑิต (กภ.บ.)

แผนการรับนิสิต ต่อปีการศึกษา

ปีละ 60 คน

การจัดการศึกษา

เป็นระบบทวิภาค และมีการศึกษาในภาคฤดูร้อนของชั้นปีที่ 3

กระบวนการเรียนการสอน

ใช้กลยุทธ์การสอนที่หลากหลายและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาผลการเรียนรู้ ตามที่หลักสูตรคาดหวังไว้อย่างครบถ้วนทุกด้าน อาทิเช่น

  • ด้านคุณธรรมจริยธรรม: กำหนดให้อาจารย์ผู้สอนทุกคนต้องสอดแทรกเรื่องคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพในการสอนทุกรายวิชาที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นเรื่องสิทธิผู้ป่วยและศักดิ์ศรีคุณค่าของความเป็นมนุษย์และทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี
  • ด้านความรู้: จัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ออกแบบการสอนที่ช่วยให้นิสิตเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ทั้งความรู้ที่เป็นหลักการทางทฤษฎีและแนวทางประยุกต์เพื่อการปฏิบัติในสภาพแวดล้อมจริง โดยอาศัยกลยุทธ์การสอนที่หลากหลาย
  • ทักษะทางปัญญา: เน้นให้นิสิตคิดหาเหตุผล เข้าใจที่มาและสาเหตุของปัญหา วิธีการแก้ปัญหาโดยการ แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยใช้กลยุทธ์วิธีการสอนที่หลากหลาย
  • ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ: กำหนดกิจกรรมให้มีการทำงานที่ต้องประสานงานกับผู้อื่นข้ามสาขา หรือต้องค้นคว้าหาข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคลอื่น หรือต้องแนะนำให้ความรู้ด้านสุขภาพกับประชาชน มุ่งเน้นให้นิสิตเรียนรู้จากสถานการณ์จริง
  • ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ: จัดกิจกรรมการเรียนรู้ในรายวิชาต่างๆ ให้นิสิตได้วิเคราะห์เชิงตัวเลขในกรณีศึกษา สถานการณ์จำลอง เลือกสารสนเทศและการสื่อสาร ที่เหมาะสมกับผู้ฟังและเนื้อหาที่นำเสนอ
  • สุนทรียภาพ: ส่งเสริมและจัดกิจกรรมให้นิสิตได้ฝึกพัฒนาบุคลิกภาพที่เหมาะสมทั้งการพูดจา การแต่งกาย และการใช้ท่าทางในการนำเสนองานหน้าชั้นเรียนหรือขณะให้บริการทางกายภาพบำบัดแก่ผู้ใช้บริการ
  • สุขภาพและบุคลิกภาพ: นิสิตลงลายมือชื่อเข้า-ออกจากการปฏิบัติงาน ส่งเสริมให้นิสิตนำความรู้ที่ได้จากบทเรียนไปใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพ ความสะอาดของตนเอง
  • ทักษะการปฏิบัติการทางวิชาชีพ: การสอนแบบสาธิต การฝึกปฏิบัติสถานการณ์จำลองและ/หรือสถานการณ์จริง
วิธีการประเมินผล

ใช้วิธีการประเมินหลากหลายวิธี เพื่อสะท้อนผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและเนื้อหาของหลักสูตร อาทิ

  • ด้านคุณธรรมจริยธรรม: ประเมินจากพฤติกรรมการเสียสละ และรู้จักการให้ ในกิจกรรมต่างๆ ที่แทรกเสริมในรายวิชา การตรงต่อเวลาของนิสิตในการเข้าชั้นเรียน การส่งงานตามกำหนดระยะเวลาที่มอบหมายและการร่วมกิจกรรม
  • ด้านความรู้: ประเมินจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและปฏิบัติของนิสิตในด้านต่างๆ คือ การทดสอบย่อย การสอบกลางภาคเรียนและปลายภาคเรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ประเมินจากรายวิชาฝึกปฏิบัติทางคลินิก
  • ทักษะทางปัญญา: ออกข้อสอบแบบกรณีศึกษาที่ให้นิสิตแก้ปัญหา อธิบายแนวคิดของการแก้ปัญหา และวิธีการแก้ปัญหาโดยการประยุกต์ความรู้ที่ได้เรียนมา ประเมินจากการนำเสนอรายงานและการตอบข้อซักถามในชั้นเรียน
  • ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ: ประเมินจากพฤติกรรมและการแสดงออกของนิสิตในการนำเสนอรายงานกลุ่มในชั้นเรียนและสังเกตจากพฤติกรรมที่แสดงออกในการร่วมกิจกรรมต่างๆ
  • ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ: ประเมินจากความสามารถในการอธิบายถึงข้อจำกัด เหตุผลในการเลือกใช้เครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยวิเคราะห์เชิงตัวเลข เพื่อแก้ปัญหา การอภิปราย กรณีศึกษาต่างๆ ความสามารถในการค้นคว้าหรือสืบค้นข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการนำเสนอต่อชั้นเรียน
  • สุนทรียภาพ: ประเมินจากคะแนนฝึกปฏิบัติในส่วนของการประเมินพฤติกรรมของนิสิตโดยอาจารย์และอาจารย์ผู้คุมฝึกงาน ณ โรงพยาบาลที่นิสิตฝึกงาน
  • สุขภาพและบุคลิกภาพ: ประเมินจากจำนวนครั้งของการขาดเรียนอันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยของนิสิต รวมถึงสุขนิสัยจากการแสดงออกขณะให้บริการทางกายภาพบำบัด
  • ทักษะการปฏิบัติการทางวิชาชีพ: ประเมินทักษะการปฏิบัติทางวิชาชีพ ในสถานการณ์จำลองในห้องเรียน และสถานการณ์จริงในแหล่งฝึกงาน
เกณฑ์การสำเร็จการศึกษา
  • เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยพะเยาว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • มีระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมของวิชาชีพไม่ต่ำกว่า 2.00
  • สอบรวบยอด (Comprehensive examination) ผ่าน ตามประกาศของคณะสหเวชศาสตร์
อาชีพที่สามารถปฏิบัติได้หลังสำเร็จการศึกษา และสอบได้ใบประกอบวิชาชีพจากสภากายภาพบำบัด
  1. นักกายภาพบำบัด ปฏิบัติงานในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หรือเปิดคลินิกกายภาพบำบัด
  2. นักวิจัยหรือผู้ช่วยนักวิจัย
  3. นักวิชาการด้านสุขภาพ เครื่องมือ อุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์
  4. อาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายงานด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
  5. ศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ
  6. นักกายภาพบำบัดในสโมสรกีฬา/สถานเสริมความงาม
การพิจารณาอนุมัติ/เห็นชอบหลักสูตร (หลักสูตรปรับปรุง 2560)

โดยสภามหาวิทยาลัย

อนุมัติหลักสูตร เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2560

โดย สกอ.

ส่ง สกอ. รับทราบวันที่ 8 พ.ย. 2560

โดยสภากายภาพบำบัด

รับรองหลักสูตร ในการประชุม ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560

ปรับปรุงครั้งล่าสุด

พฤษภาคม 2560