หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์
หลักสูตรปรับปรุง 2560
ชื่อหลักสูตร
ชื่อหลักสูตรภาษาไทย : หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์
ชื่อหลักสูตรภาษาอังกฤษ : Bachelor of Science Program in Medical Technology
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ชื่อเต็มภาษาไทย : วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์)
ชื่อย่อภาษาไทย : วท.บ. (เทคนิคการแพทย์)
ชื่อเต็มภาษาอังกฤษ : Bachelor of Science (Medical Technology)
ชื่อย่อภาษาอังกฤษ : B.Sc. (Medical Technology)
จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร
145 หน่วยกิต
รูปแบบของหลักสูตร
รูปแบบของหลักสูตร หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
แผนการรับนิสิตต่อปีการศึกษา
ปีละ 60 คน
เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร บัณฑิตจะเป็นผู้ที่
- ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ เคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน และภาคภูมิใจในวิชาชีพเทคนิคการแพทย์
- ประยุกต์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานและพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เกี่ยวข้องมาใช้วิเคราะห์ หรือสังเคราะห์งานทางเทคนิคการแพทย์ได้ เรียนรู้ และก้าวตามทันวิทยาการและ เทคโนโลยีที่ทันสมัยทางเทคนิคการแพทย์อย่างต่อเนื่อง
- แสดงออกถึงการเป็นผู้สามารถแก้ไขปัญหา หรือตัดสินใจด้วยวิธีคิดที่เป็นระบบ มีเหตุผล และอย่างสร้างสรรค์
- ร่วมงานหรือมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งในบทบาทผู้นำหรือสมาชิกดัวยสัมพันธภาพอันดี รับผิดชอบผลงานของตนเอง ให้ความร่วมมือพัฒนาชุมขนและวิชาชีพของตน
- ประยุกต์ใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์เพื่อคำนวณค่าความถูกต้อง แม่นยำในการทำนายผลหรือตัดสินใจได้ สื่อสารด้วยภาษาพูด ภาษาเขียนและภาษากายได้เหมาะกับกาละ เทศะ บุคคล รู้เลือกใช้เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพสำหรับการทำงาน
- รับฟัง อธิบาย และปฏิบัติต่อผู้รับบริการเพื่อให้การบริการอย่างมีศิลปะ
- สุขนิสัยที่ดี เป็นแบบอย่างของบุคลากรด้านสุขภาพแก่ผู้รับบริการและบุคคลทั่วไปได้ และแสดงออกถึงบุคลิกภาพของบุคลากรด้านสุขภาพที่มีสมรรถนะ เที่ยงธรรม และสำนึกรับใช้ชุมชน
- ปฏิบัติงานด้านเทคนิคการแพทย์ ในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน ช่วยวินิจฉัย ติดตามการรักษาและเฝ้าระวังโรค ให้กับผู้ใช้บริการ ชุมชน และสังคมอย่างมีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐานวิชาชีพ และสามารถทำวิจัยเบื้องต้นเพื่อแก้ปัญหา พัฒนา และ/หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในสาขาวิชาชีพ
อาชีพที่สามารถปฏิบัติได้หลังสำเร็จการศึกษา และสอบได้ใบประกอบวิชาชีพจากสภาเทคนิคการแพทย์
- นักเทคนิคการแพทย์ ในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หรือเปิดคลินิกเทคนิคการแพทย์
- นักวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักวิจัย หรือผู้ช่วยนักวิจัยในสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย
- ตัวแทนบริษัทจำหน่ายเครื่องมือ อุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์
- นักวิชาการด้านการประเมินสภาวะสุขภาพในบริษัทประกันชีวิต
- ศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ ได้หลากหลายสาขาวิชา อาทิ เทคนิคการแพทย์ ชีวเวชศาสตร์ ชีวเคมี พยาธิวิทยาคลินิก พิษวิทยา เทคโนโลยีชีวภาพ นิติวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่นๆ
การรับเข้าศึกษา
- สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ ในแผนการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหรือเทียบเท่า
- มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เจ็บป่วยหรือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรือมีความผิดปกติที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
- ไม่มีภาวะตาบอดสีขั้นรุนแรง อันเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา โดยผ่านการตรวจ FARNSWORTH D 15 hue test ซึ่งผลตรวจจะต้องไม่มีเส้นตัดขวางมากกว่าหรือเท่ากับ 10 เส้น ที่ถือว่าเป็นตาบอดสีขั้นรุนแรง ตามแนวทางการตรวจตาบอดสี ของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
การให้ปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
ให้ปริญญา วท.บ. (เทคนิคการแพทย์) เพียงสาขาวิชาเดียว
การจัดการศึกษา
เป็นระบบทวิภาค และมีการศึกษาในภาคฤดูร้อนของชั้นปีที่ 3
กระบวนการเรียนการสอน
ใช้กลยุทธ์การสอนที่หลากหลายและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาผลการเรียนรู้ ตามที่หลักสูตรคาดหวังไว้อย่างครบถ้วนทุกด้าน อาทิเช่น
- ด้านคุณธรรมจริยธรรม: สอดแทรกเรื่องคุณธรรม จริยธรรมและจรรณยาบรรณวิชาชีพในการสอนทุกรายวิชาที่เกี่ยวข้อง เน้นเรื่องสิทธิผู้ป่วยและศักดิ์ศรีคุณค่าของความเป็นมนุษย์
- ด้านความรู้: ออกแบบการสอนที่ช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้ได้ด้วยตนเองทั้งที่เป็นหลักการทางทฤษฎีและแนวทางประยุกต์เพื่อการปฏิบัติในสภาพแวดล้อมจริง ได้แก่ เรียนรู้โดยออกให้บริการแก่ชุมชนเชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงมาสอน
- ทักษะทางปัญญา: จัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ออกแบบการสอนที่ช่วยให้นิสิตเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ทั้งความรู้ที่เป็นหลักการทางทฤษฎีและแนวทางประยุกต์เพื่อการปฏิบัติในสภาพแวดล้อมจริง
- ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ: จัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีการทำงานเป็นทีมเพื่อส่งเสริมการแสดงบทบาทของการเป็นผู้นำและผู้ตาม รวมถึงกำหนดกิจกรรมให้มีการทำงานที่ต้องประสานงานกับผู้อื่นข้ามสาขา
- ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ: จัดกิจกรรมที่เน้นให้นิสิตได้ฝึกทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคลทั้งการพูด การฟัง และการเขียน ในกลุ่มผู้เรียน ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน และบุคคลที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ที่หลากหลาย
- สุนทรียภาพ: ให้นิสิตบริการตรวจสุภาพทางเทคนิคการแพทย์ในสถานการณ์จริงกับผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือประชาชนในชุมชน
- สุขภาพและบุคลิกภาพ: ให้นิสิตได้ฝึกทักษะวิชาชีพในชั่วโมงปฏิบัติการด้วยการวิเคราะห์สิ่งส่งตรวจที่เป็นของตนเองเพื่อเรียนรู้สุขภาวะของตน และเกิดความระวังสังวรในการรักษาสุขภาพ รวมถึงตั้งกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการป้องกันตนเองแบบทั่วไป (universal precaution)
- ทักษะการปฏิบัติการทางวิชาชีพ: จัดให้มีการฝึกปฏิบัติสถานการณ์จำลองในห้องปฏิบัติการ และการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง ณ สถานบริการที่เป็นแหล่งฝึกงาน
วิธีการประเมินผล
ใช้วิธีการประเมินหลากหลายวิธี เพื่อสะท้อนผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและเนื้อหาของหลักสูตร อาทิ
- ด้านคุณธรรมจริยธรรม: ประเมินจากพฤติกรรมการเสียสละ และรู้จักการให้ ในกิจกรรมบริการวิชาการต่างๆ ที่แทรกเสริมในรายวิชา
- ด้านความรู้: ประเมินจากการสอบกลางภาคเรียนและปลายภาคเรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ และประเมินการนำเสนองานในชั้นเรียน
- ทักษะทางปัญญา: ประเมินจากการนำเสนอรายงานและการตอบข้อซักถามในชั้นเรียน รวมถึงการออกข้อสอบแบบกรณีศึกษาที่ให้นักศึกษาแก้ปัญหา อธิบายแนวคิดของการแก้ปัญหา และวิธีการแก้ปัญหาโดยการประยุกต์ความรู้ที่เรียนมา
- ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ: ประเมินจากพฤติกรรมและการแสดงออกของนิสิตในการนำเสนอรายงานกลุ่มในชั้นเรียน และสังเกตจากพฤติกรรมที่แสดงออกในการร่วมกิจกรรมต่างๆ
- ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ: ประเมินผลงานตามกิจกรรมการเรียนการสอน โดยใช้แบบประเมินทักษะการนำเสนอ การฟัง และการเขียน
- สุนทรียภาพ: ประเมินจากคะแนนฝึกปฏิบัติของนิสิตโดยอาจารย์ผู้คุมฝึกงาน ณ โรงพยาบาลที่นิสิตไปฝึกงานหรือคะแนนความพึงพอใจของประชาชนผู้มารับบริการในชุมชน
- สุขภาพและบุคลิกภาพ: ประเมินจากการสังเกตของอาจารย์ผู้สอน ทั้งเวลาเรียนและเวลาฝึกปฏิบัติหรือเวลาออกให้บริการในชุมชน
- ทักษะการปฏิบัติการทางวิชาชีพ: ประเมินทักษะที่บูรณาการทั้งความรู้ เจตนคติ และการสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลในองค์กรและผู้รับบริการ โดยการสอบปฏิบัติในสถานการณ์จำลอง ณ ห้องปฏิบัติการ และสถานการณ์จริง ณ แหล่งฝึกงาน
เกณฑ์การสำเร็จการศึกษา
- เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยพะเยาว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- มีระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมของวิชาชีพไม่ต่ำกว่า 2.00
- สอบรวบยอด (Comprehensive examination) ผ่าน ตามประกาศของคณะสหเวชศาสตร์
การพิจารณาอนุมัติ/เห็นชอบหลักสูตร
โดยสภามหาวิทยาลัย
อนุมัติหลักสูตรในการประชุมครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2560
โดย สกอ.
ส่ง สกอ. รับทราบวันที่ 8 พ.ย. 2560
โดยสภาเทคนิคการแพทย์
รับรองหลักสูตร ในการประชุม ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2560
ปรับปรุงครั้งล่าสุด
มิถุนายน 2560